ครูช่างไม่ต้องมีตั๋วครูแล้ว
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา
รมว.ศึกษาธิการ เผย เตรียมเปิดกว้างให้ครูช่างไม่ได้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ชี้ ถือเป็นของขวัญให้เด็กอาชีวะ เพื่อต่อยอดประสบการณ์ตรงจากผู้ที่มีทักษะฝีมือช่างอย่างเต็มที่ คาดเริ่มดำเนินการได้ก่อนเปิดภาคเรียนปี 1/2562 วันนี้ (16 ม.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กำลังแก้ไขมาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวะ โดยจะเปิดกว้างให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาอื่นและมีความรู้ มีทักษะด้านวิชาชีพช่างต่างๆให้มาเป็นครูได้โดยไม่ต้องมีอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่ง กมว.กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมข้อมูล
หลังจากนั้น จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มีตนเป็นประธาน พิจาณาในวันที่ 29 ม.ค.นี้ ซึ่งหากบอร์ดคุรุสภามีมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าวก็จะมอบให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับเกณฑ์มาตรฐานตำแหน่งครูอาชีวะต่อไป ทั้งนี้การแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอาชีวะครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้สอนแต่ทักษะวิชาชีพเท่านั้น หากครูเหล่านี้ต้องการจะไปสอนวิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น จะต้องรับเข้ารับและผ่านการประเมินเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุุรุสภาเหมือนเดิม ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของเด็กอาชีวะที่จะได้เรียนกับครูช่างที่มีทักษะฝีมือและสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ตรงไปสู่เด็กได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามคาดว่าเรื่องดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2562 นี้อย่างแน่นอน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า
นอกจากนี้ ตนได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงเรื่องขยายเวลาเกษียณอายุราชการครูจากเดิมเดือนก.ย.ไปถึง มี.ค. เนื่องจากห่วงปัญหาเด็กขาดครู ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดยังไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตุว่าอยากจะดำเนินการขยายเวลาอัตรเกษียณของครู เพราะเป็นห่วงนักเรียนจะขาดครู ซึ่งตนเพียงแต่ยกแนวคิดนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้งว่าจะทำให้เป็นไปได้หรือไม่ โดยจะต้องพิจาณาอย่างรอบคอบ
ดังนั้น หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์และเดินหน้าไปได้ หรืออะไรที่เดินหน้าไม่ได้ก็ฝากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อด้วย ทั้งนี้ ตนว่าการขยายเวลาเกษียณของครูมีประโยชน์ไม่อยากให้มองข้ามไป แต่ทั้งนี้หากจะดำเนินการอะไรไม่ใช่ตัดสินและทำทันทีคงไม่ได้ โดยเราต้องดูข้อกฎหมายประกอบการดำเนินการด้วยว่าจะเลือกปฎิบัติหรือไม่ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่หากขยายเวลาออกไป ซึ่งต้องวางแผนคิดทั้งระบบให้รอบด้าน ขอบคุณที่มา
เนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 16 มกราคม 2562
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา