จากใจเด็กจบใหม่ยุค 2018 เพราะอะไรถึงอยากได้เงินเดือนก้อนแรก 20,000 มาดูเหตุผลกัน!

เด็กไทยจบใหม่ต้องการเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่?

ในสภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน นิวมีเดีย พีพีทีวี สำรวจความคิดเห็นนักศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่อยากได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 – 20,000 ขึ้นไป เพราะมีค่าใช้จ่ายรอบตัวในภาวะค่าครองชีพสูง

กลายเป็นปัญหาสำหรับเด็กจบใหม่ เมื่อต้องเข้าทำงานครั้งแรกด้วยวุฒิปริญญาตรี ซึ่งหลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าต้องเริ่มต้นด้วยเงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมาก ในสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ทุกบริษัทต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานขั้นต่ำเริ่มต้นวันละประมาณ 325 บาท

 

จาก ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นายฤทธิวงศ์ บุญบรรบุ นักศึกษาคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ บอกว่า อยากได้เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 – 30,000 บาทเพราะว่าตนเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็อยากให้คุ้มกับค่าเรียนที่เสียไป แต่ก็ยอมรับว่าต้องอาศัยประสบการณ์ของตนเองด้วย เมื่อได้เงินส่วนนี้มาก็จะแบ่งจ่ายเป็นส่วนๆ ให้พ่อแม่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าห้อง และค่ารถ

“เรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็อยากให้คุ้มกับค่าเรียนที่เสียไป”

นางสาวนุชจรี ศิริสุภา นักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า หากจบปริญญาตรี อยากทำงานได้เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เนื่องจากประสบการณ์ตนไม่มากพอที่จะสามารถขอเงินเดือนสูง ๆ ได้ และถ้าสมมติได้ทำงานจริง ตนก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ แล้วค่อยขยับเงินเดือนขึ้นไป ซึ่งดีกว่าที่จะต้องเรียกเงินเดือนสูงตั้งแต่แรก เพราะตนยังไม่รู้ความสามารถตัวเองว่าเก่งขนาดไหน

 

“อยากทำงานได้เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เนื่องจากประสบการณ์ตนไม่มากพอที่จะสามารถขอเงินเดือนสูง ๆ ได้”

ด้านนางสาวพัฐนสรณ์ โศภาวชิราทวี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า อยากทำงานได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาทขึ้นไป เพราะว่าตอนนี้ค่าครองชีพสูง ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และยิ่งในกรุงเทพมหานครก็จะมีค่าใช่จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าข้าว ค่าเดินทาง เป็นต้น ซึ่งไม่พอใช้จ่ายด้วยค่าแรงแค่ขั้นต่ำ

“ตอนนี้ค่าครองชีพสูง ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ”

เมื่อความต้องการของเด็กจบใหม่กับเงินเดือนก้อนแรกเป็นแบบนี้ แล้วความเห็นของ ฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR จะว่าอย่างไร

อภิชาติ ขันธวิธิ แอดมินเพจ HR- The Next Gen บอกกับนิวมีเดีย พีพีทีวี ว่า หากมีความต้องการเงินเดือนในระดับ 25,000 – 30,000 บาท สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องหาบริษัทที่สามารถจ่ายค่าจ้างในระดับที่ต้องการให้ได้ก่อน ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีอัตราของคู่แข่งสูงสิ่งที่สำคัญคือ ทำความรู้จักบริษัทนี้ให้ดีที่สุด โดยต้องรู้ให้ได้ว่าบริษัทนั้นต้องการคนลักษณะใดมาร่วมงาน

“ รู้เขารู้เรา เช่น ถ้าอยากจะได้ทำงานที่นี่ เขาต้องการคนที่คิดต่อยอด สร้าง Innovation ในงานแต่ละอย่างได้ หรือเขาต้องการคนที่ Positive เข้าไป ตัวเราต้องกลับมามองตัวเราว่าเรามีในสิ่งที่บริษัทเหล่านั้นต้องการหรือเปล่าเรายังขาดอะไรบ้าง เราต้องเติมให้เต็มก่อนที่เราจะไปเริ่มสมัครงานและสัมภาษณ์กับเขา”

อภิชาติ บอกด้วยว่า หลายครั้งที่บริษัทรู้ว่าความสามารถของผู้สมัครเหมาะสมกับอัตราเงินเดือนที่ขอมาแต่อาจจะเป็นที่ข้อจำกัดของตัวบริษัทเองที่ต้องตัดใจปล่อยไป

“ มันต้องหาจุดสมดุลระหว่างกัน ถ้าวันนี้เราบอกว่าผมต้องได้ 30,000 บริษัทก็เห็นนะว่าคุณควรได้ 30,000 แต่บริษัทไม่สามารถจ่ายได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ผิด ถ้าเราบอกว่าเราอยากได้ 30,000 และมูลค่าเรามีจริงๆ เราเดินไปหาบริษัทที่เขาจ่ายได้ ซึ่งมันมีอยู่จริง”

เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดที่นักศึกษาจบใหม่จะประเมินมูลค่าของตัวเองแต่ขณะเดียวกันเกิดการจ้างงานขึ้นจะมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ทั้งสองฝ่ายก็ต้องหาจุดสมดุลร่วมกันถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอมปล่อยไป

เด็กรุ่นใหม่ “Gen Z” สนใจบรรยากาศการทำงานมากกว่าชื่อเสียงองค์กร

และถ้าไปดูความแตกต่างของการเลือกองค์กรแรกของการทำงานระหว่างคน 2 รุ่นคือ คน Gen Y และ Gen Z ก็พบว่ามีมุมมองต่างกัน

ซึ่งข้อมูลของ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) บอกว่า ในโลกการทำงานปัจจุบัน กลุ่มคน Gen Y และ Gen Z เริ่มมีบทบาทในโลกของการทำงานมากขึ้น และแน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เริ่มจะกลายมาเป็นกำลังแรงงานหลักของหลายองค์กร

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานสองเจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Y และ Gen Z โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศจำนวน 3,184 คน ในหัวข้อปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกเข้าทำงานกับองค์กร พบว่ามี 5 ปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญเหมือนกันมากที่สุด ประกอบด้วย

1. เงินเดือน คิดเป็น 27.96% ปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นต่างให้ความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจเลือกงานมากที่สุด เพราะทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีความเห็นตรงกันว่าหากคนทำงานทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ทุกคนย่อมต้องการเงินเดือนที่เหมาะสมเป็นสิ่งตอบแทน

2. สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คิดเป็น 19.59% ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญ เนื่องจากสวัสดิการถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยบริหารคนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถจูงใจให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรยาวนานขึ้น รวมถึงสามารถดึงดูดให้คนภายนอกอยากมาทำงานกับองค์กรได้มากขึ้นด้วย เช่น เงินสนับสนุนตามโอกาสพิเศษ ส่งพนักงานไปอบรมพัฒนาความรู้ จัดสรรเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้

3. หน้าที่รับผิดชอบ คิดเป็น 14.59% เนื่องจากทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีมุมมองคล้ายกันในเรื่องภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายถือเป็นการสร้างความท้าทายในชีวิต และเป็นโอกาสในการสร้างเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ยิ่งหากได้ทำงานตรงสายก็จะรู้สึกว่าตนเองได้แสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

4. การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.81% คนทำงานส่วนใหญ่ต่างนิยมหาสถานที่ทำงานใกล้บ้านหรือเดินทางได้สะดวก เพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดจากปัญหาการจราจรติดขัด

5. มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คิดเป็น 12.12% เพราะจุดมุ่งหมายของคนทำงานทุกคนคือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดังนั้นองค์กรต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเติบโตในสายอาชีพได้ เช่น โอกาสในการปรับตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือน นอกจากนี้รวมถึงการมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น ก็สามารถสะท้อนให้พนักงานเห็นถึงโอกาสก้าวหน้าในงานที่ทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่ Gen Z ให้ความสำคัญรองจาก 5 อันดับข้างต้น คือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ชื่อตำแหน่ง ประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงองค์กร ตามลำดับ

แต่ถ้าย้อนกลับดูคน Gen Y ให้ความสำคัญกับชื่อตำแหน่ง ชื่อเสียงองค์กร สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ประเภทธุรกิจ และทำเลที่ตั้ง ตามลำดับ

ซึ่งจะเห็นว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการสนใจเรื่องชื่อเสียงองค์กร ในขณะที่ Gen Y ให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่งและชื่อเสียงองค์กรมากกว่า อาจเป็นเพราะ Gen Y เข้าสู่ช่วงชีวิตการทำงานที่มีตำแหน่งงานอยู่ในระดับกลางถึงสูง ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่ง และชื่อเสียงองค์กรมากกว่า Gen Z ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรต้องเริ่มปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงรวมถึงหันมาทำความเข้าใจในสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาพนักงานลาออกหรือคนวัยแรงงานไม่สนใจทำงานประจำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้

ข่าวจาก : PPTV36

ใส่ความเห็น