คาดปี 62 คนไทยว่างงาน แตะ 4.5 แสนคน ไทยเข้าสู่ยุคทรานฟอร์มสู่ดิจิตอล

คาดปี 62 คนว่างงานเพิ่มแตะ 4.5 แสนคน เหตุปัจจัยเสี่ยงเพียบ พร้อมชี้ไทยเข้าสู่ยุคทรานฟอร์ม สู่ดิจิตอลส่งผลตลาดแรงงานชะลอตัว

 

ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา

เพิ่มเพื่อน

 

 

น.ส. สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นเป็น 1.1-1.2% หรือคิดเป็น 4.5 แสนคน จากปี 2561 ที่มีอัตราว่างงาน 0.04% หรือประมาณ 4 แสนคนของตลาดแรงงานที่มีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน

ซึ่งตัวเลขที่สูงนั้นมาจากปัจจัยเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ค่าเงินที่ผันผวน จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย และทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ

ตัวเลขอัตราการว่างงานในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในปี 2562 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยยังไม่สูง และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น จึงยังไม่น่ากังวลมากนัก แต่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะชะลอตัว

“ณ วันนี้ เป็นช่วงทรานฟอร์ม หรือยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องให้เวลากับองค์กรธุรกิจต่างๆ ปรับตัว โดยต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเห็นผล หลังจากนั้น จึงจะได้เห็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ งานบริการลูกค้า และโปรแกรมเมอร์ ตลอดจนเกิดอาชีพใหม่ๆ ด้วย”

แต่ในช่วงระหว่างทรานฟอร์มนี้ จะมีแนวโน้มการว่างงานของบางธุรกิจ อย่าง ภาคการผลิต ที่ขณะนี้แรงงานทั่วโลกเข้ายุคโรโบติกส์ หรือหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคน โดยอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์มีการคาดการณ์กันว่าเมื่อเข้าสู่เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) เต็มตัว จะมีแรงงานที่เสี่ยงตกงานถึง 2 แสนคน

ดังนั้น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายกำลังตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน นับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ดี บริษัทได้สำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมี 10 อันดับสายงาน ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1. งานขายและการตลาด 22.65% 2. งานบัญชีและการเงิน 12.16% 3. งานวิศวกร และการผลิต 8.62% 4. งานไอที 8.11 % 5. งานธุรการ 7.15 % 6. งานบริการลูกค้า 6.39% 7. งานระยะสั้นต่างๆ 6.28% 8. งานระดับผู้บริหาร 5.63% 9. งานทรัพยากรบุคคล 5.02% 10. งานโลจิสติกส์ 3.04%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่ง บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ รองลงมาคือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสาม คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ขอบคุณที่มา : ข่าวสดออนไลน์

ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา

เพิ่มเพื่อน

ใส่ความเห็น