เทพทันใจ หรือ นัตโบโบยี มีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า มีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องคุ้มครองเจดีย์โบตาทาวน์ ซึ่งชาวพม่านับถือในสถานะของเทพผู้ปกปักรักษาและบันดาลโชคลาภ แล้วยังมีความเชื่อว่า ผู้ใดมากระชิบขอสิ่งใดจะสมปรารถนาได้รวดเร็วทันใจตามที่หวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ค้าขาย หรือความรัก ทำให้มีผู้คนศรัทธามากขึ้น รวมถึงคนไทยนิยมเดินทางไปสักการะบูชาและท่องเที่ยวในพม่าบ่อยขึ้น
“นัต” แปลว่า “เทวดา” เป็นวิญญาณของคนตายโหงที่มีระดับสูงกว่าผีแต่ก็ไม่ใช่เทพ ขณะที่ตนมีชีวิตได้ประกอบคุณงามความดีเอาไว้ และยังห่วงบ้าน จึงได้คอยปกป้องบ้านเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ นัตที่ชาวพม่านับถือมีหลายตน แต่วันนี้เราจะกล่าวถึง “นัตโบโบยี” หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ “เทพทันใจ”
วิธีบูชาเทพทันใจ
สิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้
เครื่องบูชา ประกอบด้วย ดอกไม้ ผลไม้ เช่น กล้วยนากสีแดง และมะพร้าวน้ำหอม ท่านไม่ทานเนื้อสัตว์
ธนบัตร 2 ใบ
ผ้าคล้องคอ และร่มฉัตรกระดาษ
เมื่อเตรียมสิ่งของครบแล้วปฏิบัติดังนี้
ให้นำสิ่งของที่ถวายใส่พาน แล้วนะไปวางที่โต๊ะ จากนั้นนำธนบัตรที่เหมือนกัน 2 ใบ ม้วนเป็นรูปกรวยซ้อนกัน แล้วนำใส่ในอุ้งมือของท่าน
นำหน้าผากของคุณไปแตะที่นิ้วเทพทันใจ แล้วตั้งจิตอธิษฐานบอกชื่อ-นามสกุล พร้อมด้วยขอพรสิ่งที่ตนปรารถนาเพียง 1 ข้อเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนใจ!!
นำเงินธนบัตรที่ถวายออกมาเก็บเอาไว้เองเป็นขวัญถุง 1 ใบ เพื่อความเป็นสิริมงคลและต่อโชคลาภให้ตนเอง
ไหว้เทพทันใจ ใช้ธูปกี่ดอก
สำหรับการไหว้เทพทันใจนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ธูปในการไหว้ ใช้เพียงเครื่องบูชาก็เพียงพอแล้ว
คาถาบูชาเทพทันใจ
ตั้งนะโม 3 จบ………
โอม สิทธิการิยะ ข้าแต่ท้าวเทพทันใจ
โสโสมะมา จิตตะภะวัง มหาลาภัง อิติพุทธัสสะ
สุวรรณนังวา ราชาตังวา มณีวา ธะนังวา ภิชังวา
อัตถังวา ปัตตังวาเงินทองหลั่งไหลมา มหาลาภา
เอหิ เอหิ อาคัจฉายะอิติ ปรารถนาอันใด พึ่งสำเร็จมา
นะมามีมา มหาลาโภ เทวะราชะกะนัง เชยยะ เชยยะ ภะวันตุ
ขอพรอย่างไร? ให้สมหวังโดยเร็ว
ก่อนอื่นคุณต้องทราบว่า “เทพทันใจ” นั้นท่านต้องการสิ่งใด สิ่งที่ท่านปรารถนาที่สุด คือ “ผลบุญ” ฉะนั้นเราจะต้องสร้างบุญถวายให้แก่ท่าน ไม่ว่าจะทำบุญใส่บาตร นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือการให้ทานก็ขอให้คุณนึกถึงท่าน แล้วอุทิศผลบุญนั้นให้ท่านด้วย การขอพรควรขอทีละเรื่อง เมื่อสำเร็จแล้วจึงขอใหม่ ยิ่งทำบุญมาก ผลบุญนั้นจะส่งให้พรที่ขอประสบความสำเร็จมากขึ้น และอีกสิ่งที่ทำให้เราสมหวังคือ “การลงมือปฏิบัติ”