คาดปี 62 คนว่างงานเพิ่มแตะ 4.5 แสนคน เหตุปัจจัยเสี่ยงเพียบ พร้อมชี้ไทยเข้าสู่ยุคทรานฟอร์ม สู่ดิจิตอลส่งผลตลาดแรงงานชะลอตัว
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา
น.ส. สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นเป็น 1.1-1.2% หรือคิดเป็น 4.5 แสนคน จากปี 2561 ที่มีอัตราว่างงาน 0.04% หรือประมาณ 4 แสนคนของตลาดแรงงานที่มีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน
ซึ่งตัวเลขที่สูงนั้นมาจากปัจจัยเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ค่าเงินที่ผันผวน จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย และทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ
ตัวเลขอัตราการว่างงานในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในปี 2562 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยยังไม่สูง และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น จึงยังไม่น่ากังวลมากนัก แต่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะชะลอตัว
“ณ วันนี้ เป็นช่วงทรานฟอร์ม หรือยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องให้เวลากับองค์กรธุรกิจต่างๆ ปรับตัว โดยต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเห็นผล หลังจากนั้น จึงจะได้เห็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ งานบริการลูกค้า และโปรแกรมเมอร์ ตลอดจนเกิดอาชีพใหม่ๆ ด้วย”
แต่ในช่วงระหว่างทรานฟอร์มนี้ จะมีแนวโน้มการว่างงานของบางธุรกิจ อย่าง ภาคการผลิต ที่ขณะนี้แรงงานทั่วโลกเข้ายุคโรโบติกส์ หรือหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคน โดยอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์มีการคาดการณ์กันว่าเมื่อเข้าสู่เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) เต็มตัว จะมีแรงงานที่เสี่ยงตกงานถึง 2 แสนคน
ดังนั้น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายกำลังตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน นับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี บริษัทได้สำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมี 10 อันดับสายงาน ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1. งานขายและการตลาด 22.65% 2. งานบัญชีและการเงิน 12.16% 3. งานวิศวกร และการผลิต 8.62% 4. งานไอที 8.11 % 5. งานธุรการ 7.15 % 6. งานบริการลูกค้า 6.39% 7. งานระยะสั้นต่างๆ 6.28% 8. งานระดับผู้บริหาร 5.63% 9. งานทรัพยากรบุคคล 5.02% 10. งานโลจิสติกส์ 3.04%
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่ง บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ รองลงมาคือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสาม คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ขอบคุณที่มา : ข่าวสดออนไลน์
ไม่พลาดข่าวสาร กดแอดไลน์ ติดตามเรา